ข้อมูลพื้นฐานสารสนเทศของโรงเรียน
ประวัติของโรงเรียน
ในอดีตนักเรียนบ้านหนองบัวรองได้เดินทางไปเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองบัวใหญ่ (เขตการทางนครราชสีมาสงเคราะห์ ๔) ต่อมาผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลาน ต้องเดินทางไปเรียนด้วยความยากลำบากเป็นระยะทางไกล นายพัน อินทรผล ผู้ใหญ่บ้าน ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านหนองบัวรองขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนชั่วคราวขึ้นเมื่อ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนบ้านหนองบัวรอง (อินทรผลบำรุง)ได้รับการอุปถัมภ์เมื่อเริ่มจัดตั้งโรงเรียน ดังนี้
๑. นางสีไว อินทรผล บริจาคที่ดินให้แก่โรงเรียนจำนวน ๓ ไร่ ๘๓ ตารางวาตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ทะเบียน ๑๑๔๐ เลขที่ ๒๔
๒. นายป้อม ผาเบ้า มอบที่ดินให้แก่โรงเรียนด้วยวาจา แต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์จำนวน ๑ งาน ๕๗ ตารางวา ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๓๗ คณะครูและชาวบ้านร่วมกันจัดหาผ้าป่าสามัคคีเพื่อจัดซื้อที่ดินของ นายป้อม ผาเบ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ น.ส. ๓ ก เล่มเดียวกันที่ยังไม่ได้โอนให้โรงเรียน เป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ ราคา ๙๐,๐๐๐ บาท (เก้าหมื่นบาทถ้วน) ดังนั้นจึงแบ่งออกเป็น น.ส. ๓ ก ผืนเดียวกันรวมทั้งที่ของนายป้อม ผาเบ้า มอบให้โรงเรียนรวมกับที่คณะกรรมการจัดหาผ้าป่าซื้อที่ดินให้โรงเรียนอีก ๑ ไร่ เป็นเนื้อที่วัดได้จำนวน ๑ ไร่ ๑ งาน ๒๗ ตารางวา โรงเรียนได้ประสานงานกับสำนักงานที่ดินอำเภอจัตุรัสและราชพัสดุจังหวัดชัยภูมิรับโอนที่ดินจากนางสีไว อินทรผลและนายป้อม ผาเบ้า รวม ๒ แปลง ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจังหวัดชัยภูมิ หมายเลข ที่ ช.ย. ๙๑๘ รวมเนื้อที่ ๔ ไร่ - งาน ๑๐ ตารางวา
๓. ที่ดินของ นายเจียง อัชฌาสัย และที่ดินสาธารณะ ยังไม่ได้โอนและขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ เนื่องจากที่ดินสาธารณะไม่มี น.ส ๓ ก และที่ของ นายเจียง ที่แจ้งความประสงค์มอบให้โรงเรียน จำนวน ๑ งาน ๕๗ ตารางวา ยังไม่ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนเพราะ นายเจียง อัชฌาสัยได้ถึงแก่กรรม ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา ภรรยาจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้ไม่ได้ และบุตรของ นายเจียง อัชฌาสัย ไม่มีบุคคลใดรับเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจียง ดังนั้น ที่ดินส่วนที่ นายเจียง อัชฌาสัย มอบให้จึงยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ น.ส. ๓ ก หรือโฉนดให้แก่โรงเรียน
๔. นายพัน อินทรผล ผู้ใหญ่บ้านมอบเงินบริจาค ๕๐๐ บาท และบริการรถยนต์บรรทุกวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว
๕. นายจันทร์ อินทรผล บริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) สบทบทุนในการก่อสร้าง
๖. นายทรง คำลาย บริจาคเครื่องขยายเสียงในการประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากชาวบ้านหนองบัวรองในการขอแรงงานในการก่อสร้าง
๗. ชาวบ้านหนองบัวรองสละทรัพย์ในการก่อสร้างเป็นเงิน ๖,๕๐๐ บาท (หกพันห้าร้อยบาทถ้วน) และร่วมกันสละแรงงาน
๘. คณะครูโรงเรียนบ้านหนองบัวใหญ่ (เขตการทางนครราชสีมาสงเคราะห์ ๔) มอบทุนในการก่อสร้าง ๗๕๐ บาท (เจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน) รวมเป็นเงินที่ได้รับบริจาคทั้งสิ้น ๑๘,๒๕๐ บาท (หนึ่งหมื่นแปดพันสองร้อยห้าสอบบาทถ้วน)